top of page

PROJECTS

หลักการและเหตุผล
 

         ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ดำเนินการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้มีทักษะประสบการณ์ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริตภายหลังจากพ้นโทษ เช่น วิชาชีพนวดแผนไทย วิชาชีพการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม วิชาชีพงานศิลปะ วิชาชีพการเย็บผ้า วิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน วิชาชีพการเย็บปัก ถักร้อย และวิชาชีพการทอผ้าไทยพื้นบ้าน โดยเฉพาะการฝึกอบรมวิชาชีพด้านการทอผ้า ได้ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดการน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างกระแสสังคม ค่านิยมของผู้ต้องขังให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิดหรือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” โดยอยู่บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ทั้งนี้ ได้เน้นกระบวนการดำเนินงานการเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ และเมื่อต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานฯ เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยใช้ชีวิตแบบพอเพียง ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพด้านการทอผ้าไทยควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้บนวิถีความพอเพียงภายหลังจากพ้นโทษ โดยสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน ในขณะเดียวกันการที่ฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังได้ประกอบอาชีพทอผ้า ขณะต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานฯ ยังเป็นการสร้างอาชีพควบคู่กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นล้านนา จากการได้ทอผ้าพื้นเมืองทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายตามแบบล้านนาด้วย

        ในช่วงเริ่มต้น ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจกี่ทอผ้าภายในทัณฑสถานฯ พบว่า เกิดการชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะเดียวกัน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีทรัพยากรบุคคลที่มีค่า มีความสามารถพิเศษ เป็นกำลังการผลิตด้านการทอผ้าแบบหลากหลาย เนื่องจากผู้ต้องขังที่อยู่ในทัณฑสถานฯ มีที่มาจากหลากหลายท้องถิ่นวัฒนธรรม ทั้งชาวไทยใหญ่ ชาวพื้นเมือง และผู้ต้องขังจากภาคต่างๆ ที่ถูกย้ายระบายมาคุมขัง นับได้ว่าหากได้ริเริ่มการทอผ้าไทยจะได้ลายผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายเหมาะแก่การเป็นแหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรมด้านการทอผ้าไทย

จากการสำรวจดังกล่าว ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงเห็นว่าสามารถดำเนินการสร้างพื้นที่ ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้ศิลปะการทอผ้า ควบคู่กับการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภายในทัณฑสถานฯ ได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตในระดับต้นน้ำ (การพัฒนาปัจจัยการผลิต) ระดับกลางน้ำ (การแปรรูป) และระดับปลายน้ำ (การตลาด) โดยการผลิตในระดับต้นน้ำ ได้ดำเนินการให้การฝึกอบรมผู้ต้องขังให้เกิดการปรับเปลี่ยนนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่กับการฝึกอบรมการทอผ้าไทยให้มีความชำนาญเกิดการเรียนรู้กระบวนการผลิต การจัดการผลผลิต 

             ในระดับกลางน้ำ จากการฝึกอบรมวิชาชีพการทอผ้าไทย ผู้ต้องขังเกิดความชำนาญ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้สามารถทอผ้าที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างประณีต และอาจต่อยอดไปจนถึงการสร้างลายผ้าใหม่ๆ ได้

ในระดับปลายน้ำ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ จากการเกิดแหล่งศึกษาดูงานแห่งใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักและเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมสัมผัส ผลิตภัณฑ์จากการทอผ้า อาจนำแสดงและจำหน่ายในงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ งานแสดงสินค้า OTOP ของจังหวัด และมูลนิธิหรือร้านค้าในพระองค์

โครงการส่งเสริมฝึกวิชาชีพทอผ้าไทย/ผ้าไหม ภายใต้ปรัชญาเศรษฐิกจพอเพียง 
วิสัยทัศน์ : ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย
การพัฒนาโครงการฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม
 

      ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ย้ายที่ทำการจากที่เดิม คือ เลขที่ ๑๐๐ ถนนราชวิถี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มาทำการแทนที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ เลขที่ ๑๔๒ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ นางอารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและระลึกถึงภูมิปัญญาไทยงานทอผ้าไทย/ผ้าไหม ได้เล็งเห็นว่าอาคารสถานที่ทำการใหม่มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางเป็นสัดส่วนกอปรกับต้องการพัฒนางานฝึกอบรมวิชาชีพทอผ้าไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น จึงริเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนางานทอผ้าไทย/ผ้าไหม โดยการเข้าพบนายกเทศบาลตำบลสันกำแพง และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำการดำเนินโครงการฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ประสานอีกหลายหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินโครงการฯ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินงานโครงการทอผ้าไหมร่วมกัน เช่น เทศบาลตำบลสันกำแพง สภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติเชียงใหม่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยฟาร์อิสเทริ์น เป็นต้น

   จากความร่วมมือดังกล่าว ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไหมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ จากกรมหม่อนไหม จำนวน ๑๒๖,๘๐๐ บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นหกพันแปดร้อยบาทถ้วน) ซึ่งกรมหม่อนไหม ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการฝึกอบรม จำนวน ๑๒๗,๓๐๐ บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นเจ็ดพันสามร้อยบาทถ้วน) และให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนวิทยากรฝึกอบรมฯ นอกจากนี้ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสันกำแพง ยังได้บริจาคกี่ทอผ้าให้กับทัณฑสถานฯ เพื่อใช้ในการฝึกอบรมผู้ต้องขัง จำนวน ๑ หลัง ผลการดำเนินงานผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติในการฝึกอบรมการฟอกย้อมเส้นไหม การกรอไหม การทอผ้าพื้นเมืองจำนวน ๖ ผืน

การสนับสนุนงบประมาณ

     ส่วนในเรื่องกี่ทอผ้า ได้ดำเนินการประสานให้ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางทำการซ่อมแซมชิ้นส่วนกี่ทอผ้าที่ทรุดโทรม และประกอบให้สามารถใช้งานได้จำนวน ๑๐ หลัง ซึ่งความที่จำกัดด้วยงบประมาณและความไม่สมบูรณ์ของกี่ทอผ้าทำให้การดำเนินโครงการยังเป็นไปอย่างไม่คล่องตัว และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขังโทษสูง ที่มีความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมฯ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไทยตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้อนุมัติโครงการฯ และให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น ๒๗๕,๘๐๐ บาท (สองแสนเจ็ดหมื่นห้าพันแปดร้อยบาทถ้วน)

 

          ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ได้ดำเนินการจัดจ้างให้ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ทำกี่ทอผ้าขึ้นอีกจำนวน ๑๐ หลัง ดำเนินการซื้อเส้นไหมเส้นด้าย อุปกรณ์กี่อื่นๆ ที่จำเป็น และได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรฝึกอบรมจาก ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๑ เชียงใหม่ ได้แก่ นายวิเชียร เสนาธรรม และนางอุษา เสนาธรรม ซึ่งจุดนี้ถือว่าทำให้โครงการดังกล่าวเกิดผลขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวิทยากรทั้งสองเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านการทออย่างมาก มีความเสียสละและตั้งใจจริงในการพัฒนาบุคคลผู้ด้อยโอกาสให้เกิดจิตสำนึกรักหวงแหนภูมิปัญญาการทอผ้า นอกจากการถ่ายทอดวิชาความรู้แล้วยังได้อบรมสั่งสอนผู้ต้องขังให้มีทัศนคติแนวคิดการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ให้สามารถประพฤติตนเป็นคนดีของสังคมอีกด้วย และเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รู้จักส่วนประกอบของกี่ทอผ้าโบราณอันเป็นพื้นฐานการทอผ้าให้มีความสวยงาม วิทยากรยังได้บริจาคกี่ทอผ้าพื้นบ้านให้กับทัณฑสถานฯ อีกจำนวน ๒ หลัง ผลการดำเนินงานปัจจุบันผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการทอผ้าอย่างละเอียด เทคนิค การแก้ปัญหาการทอ การออกแบบและขึ้นลายผ้า การคัดลายการเก็บตะกอ การทอผ้ายกดอกและผ้าพื้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝึกอบรมการทอผ้ายกดอกที่มีความวิจิตรสวยงาม เช่น ลายขอบกนก ลายสมเด็จ ลายพังพวย ลายพิกุลนางพญา ลายพานพุ่มใหญ่ ลายพิกุลเหลี่ยม ลายซิ่นก่าน ลายดาวล้อมเดือน ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และ ลายพื้น ฯลฯ ระยะต่อมาทางทัณฑสถานฯ เห็นว่าการฝึกอบรมฯ ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาที่น้อยมาก ซึ่งในความเป็นจริงการฝึกอบรมวิชาชีพทอผ้าจะให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ผู้ต้องขังจะต้องมีความเป็นมืออาชีพด้านการทอผ้าไหม จะต้องใช้ระยะเวลาอบรมยาวนาน เพราะต้องอาศัยความละเอียดประณีตอย่างมากและกระบวนการทอหลายขั้นตอนตาม ภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน ทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไทยตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขอรับการสนับสนุบงบประมาณจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จำนวน ๒๑๘,๔๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งหมื่นแปดพันสี่ร้อยบาทถ้วน) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไป 

 

bottom of page